ย่อยข้อมูลแบบนี้ อ่านง่ายขึ้นเยอะ 📝
หากจะพูดถึงการ ’นำเสนอข้อมูล’ ให้น่าสนใจแล้ว หลายคนคงนึกถึงการพรีเซนต์งานหน้าชั้นเรียนสมัยที่เราเป็นเด็กมัธยม เราใช้การสรุปข้อมูลแล้วนำมาจัดเรียงเป็นสไลด์พร้อมตกแต่งสวยๆ เพื่อพรีเซนต์ให้คุณครูเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วนั้นในบางสื่อที่เราจะต้องนำเสนอข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลก Online 💻 เราไม่สามารถมายืนชี้ให้ผู้อ่านมองตามมือของเรา พร้อมพูดอธิบายประกอบภาพให้ใครเข้าใจได้ เพราะเมื่อสื่อเหล่านี้ถูกปล่อยออกไปในโลกโซเชียลแล้ว เราไม่สามารถควบคุมความสนใจของผู้อ่าน รวมถึงการสื่อสารที่การันตีได้ว่าผู้อ่านเข้าใจตรงกันได้เลย
วันนี้เราจึงพาทุกคนมาให้ความสำคัญกับการจัดสรรข้อมูลเดิมๆ ให้ดูอ่านง่ายมากขึ้นด้วย Adobe illustrator ที่จะช่วยให้งานของเราอ่านง่าย กระชับ จับความสนใจจากผู้อ่านได้อยู่หมัด 💪
ขั้นตอนการสรุปข้อมูลอ่านง่าย สไตล์ illustrator มีดังนี้
- เตรียมข้อมูล/สรุปความสำคัญ
- หา Reference ที่เหมาะสม
- เลือก Element ให้แมทช์กับข้อมูล
- หลักการออกแบบต้องปัง
1. เตรียมข้อมูล และสรุปความสำคัญ
📍 เรื่องนี้เป็นหัวใจหลักและเป็นสิ่งแรกที่ไม่ใช่แค่ควรทำ แต่ ‘ต้องทำ’ เลย คือการเตรียมแหล่งข้อมูลที่จะมานำเสนอและสรุปความสำคัญให้เรียบร้อย น้ำๆไม่เอา เน้นเอาแต่เนื้อ!
โดยเฉพาะกับข้อมูลลักษณะที่เป็นสรรพคุณหรือประโยชน์ของสินค้า ยิ่งต้องคัดมาดีดีเพราะทุกแบรนด์ย่อมต้องการนำเสนอสินค้าด้วยถ้อยคำที่ชวนซื้อและดึงดูดที่สุด แต่ๆๆ เราไม่สามารถยัดคำพูดสวยหรูเหล่านั้นลงไปในภาพได้ทั้งหมด หรือถ้าใส่ไปหมดจริงๆ ก็จะลายตาไปด้วยตัวหนังสือ มันจะทั้งทำให้งานของคุณไม่น่าอ่านและยังจับความสนใจจากผู้ชมยากอีกด้วย เพราะฉะนั้นลิสต์มาครับ อยากนำเสนออะไร สิ่งไหนสำคัญที่สุด คัดมาแต่ Topic เพราะคำอธิบายบางอย่างเราสามารถขยายความได้ในแคปชั่น หรือใน Blog ที่เราเขียนงานลงไป..
2. หา Reference ที่เหมาะสม
📍 มีเนื้อหาแล้ว จะเริ่มออกแบบงานก็แนะนำให้ลองหาแรงบันดาลใจ 💡 หรือ Reference ที่เหมาะสม เพราะงานเรามันต้องดี จะมาปล่อยใจสนุกๆไม่ได้ ยิ่งเราไม่มีไอเดียหรือภาพในหัวที่คิดไว้แล้วเนี่ย พวก Reference (แหล่งอ้างอิงต่างๆ) ถือว่าจำเป็นมาก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องดูแหล่งที่เข้ากับธีมของข้อมูลด้วยว่าไปด้วยกันได้มั้ย ถ้าคุณกำลังทำงานที่ต้องนำข้อมูลที่ค่อนข้างเป็นทางการมาเสนอต่อผู้คนมากมาย จะใช้ Reference ที่เป็นธีมโฆษณาแนวหลุดโลก 🕹ไปเลยก็คงดูไม่เหมาะ ลองค่อยๆนึก Keyword ที่จะเข้ากับธีมงานของเราดู แล้วมองวิเคราะห์โดยภาพรวมว่างานลักษณะแบบเราเนี่ย เขาจัดข้อมูลยังไง พาดหัวตรงไหน รายละเอียดวางแล้วจมมั้ย หรือภาพควรเป็นขนาดเท่าไหร่ นี่ไง บอกแล้วว่าช่วยได้เยอะ แต่หากใครที่ทำงานแนวนั้นบ่อยๆ หรือดู Reference มาเยอะแล้ว คุณอาจจะเริ่มจับทางได้จนสามารถคิดภาพในหัวได้เลยล่ะ 😁
3. เลือก Element ให้แมทช์กับข้อมูล
📍 ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะนี่คือการย่อยข้อมูลมาใช้ให้น่าอ่านในสไตล์ illustrator ฉะนั้นจะต้องมี Element ต่างๆในภาพให้เหมาะสม พอเราได้ Reference มาแล้วก็จะกำหนดได้ว่าการนำเสนอข้อมูลในภาพนี้ใช้ธีมอะไร เป็นรูปแบบไหน จากนั้นเราจะสามารถเลือกหาองค์ประกอบต่างๆเอาได้เลยว่า Mood&Tone เป็นแบบนี้ ต้องใช้องค์ประกอบอะไรบ้าง 🎈🔫✏☂ เช่น การเลือก Background โทนสีควรเป็นยังไง ใช้สีนี้แล้วมันกินเนื้อหาด้านในมั้ย หรือการเลือก Vector มาใช้ก็ตามต้องพิจารณาดีดีว่างานเราเป็นโทนแนวที่มีลูกเล่นได้ หรือข้อมูลมีความน่าเชื่อถือต้องเลือกใช้ Vector เรียลๆแบบสมจริง ตลอดการใช้ฟอนต์ในภาพก็ต้องมีความเหมาะสมและเข้ากันได้กับข้อมูล และทุก Element ที่ใส่ไป
การเลือกใช้ Element ต่างๆที่แนะนำ
4. หลักการออกแบบต้องปัง!
📍 มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแน่นอนว่าต้องเป็นหลักการออกแบบ ในส่วนนี้ถือเป็นส่วนสุดท้ายก่อนเตรียมปล่อยงานออกสู่สายตาผู้ชม ถ้าให้พูดเปรียบเทียบก็คือเหมือนตอนนี้เราเป็น chef 🍽 ซึ่งมีวัตถุดิบที่สรรหาและเตรียมมาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างครบถ้วนแล้ว เหลืออย่างเดียวคือการลงมือทำอาหารครับ
ใช่แล้วครับ! จริงๆเรื่องการออกแบบไม่ได้ยากอย่างที่คิด หลักๆตอนนี้เรามีภาพในหัวจากการหา Reference แล้ว เรามี Element ที่หามาโดยผ่านการทบทวนมาแล้วว่าเหมาะสมกับธีมของภาพและข้อมูล สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือลองทำดูจริงๆครับ จัดวางดูว่าพอเราลองนำส่วนต่างๆมาวางเรียงกันตามธีมที่คิดไว้แล้วเนี่ย มันออกมาตามภาพในหัวที่คิดไว้รึเปล่า ตรงไหนที่จัดวางไว้แล้วไม่สวย หรือทำให้รายละเอียดที่คิดไว้ว่าสำคัญและควรจะเด่นกลับจมหายไป ก็ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมเลย แต่แนะนำแบบนี้ว่า ถ้าลองทำไปแล้วมันเริ่มหลุดธีมหรือองค์ประกอบเริ่มไม่ลงตัว ลองวางเมาท์ 🖱 แล้วจับดินสอ 📝 ร่างลงในกระดาษคร่าวๆก่อนก็ได้ครับ ว่าอยากปรับไปในทิศทางไหนเพื่อจะได้เห็นภาพ
หลักๆแล้วขั้นตอนที่เราแนะนำก็มีง่ายๆ ‘4 ขั้นตอน’ นี่แหละครับ ที่จะทำให้ข้อมูลที่ย่อยมาในสไตล์ illustrator ดูอ่านง่ายมากขึ้น เพราะหลักของการทำภาพแนวนี้บอกเล่าข้อมูลคือเป็นภาพที่มองแล้วเข้าใจ มี Impact ต่อผู้ชม สามารถเรียกความสนใจได้แม้ไม่ต้องให้เราไปยืนพรีเซนต์ให้ฟังนั่นเอง ส่วนใครที่ลองทำตามดูแล้วมีปัญหาบ้างก็ไม่ต้องตกใจนะ เพราะ ‘ปัญหาโลกแตกของคนทำกราฟิก’ มันมีอยู่จริงๆ ขนาดมืออาชีพก็ยังหัวร้อนได้ เอาเป็นว่าลองเข้าไปอ่านบทความต่างๆเพิ่มเติม แล้วจะได้ฝึกฝนตามคำแนะนำได้ดีขึ้นเรื่อยๆครับ 😊